เนื่องด้วยช่วงนี้ คนพูดกันเรื่องไซโคพาธกันมากขึ้น (อาจจะมาจากข่าวใหญ่ที่กำลังเป็นที่สนใจในตอนนี้) เห็นมีหลายคนมาอธิบายรายละเอียดพฤติกรรมของคนที่เป็นไซโคพาธกันเยอะแล้ว แต่ที่แอดมินสนใจในฐานะนักจิตบำบัดผ่านการเล่นที่ทำงานกับเด็กก็คือ คนคนนี้เค้ามีวัยเด็กแบบไหน เติบโตขึ้นมายังไง ถึงหล่อหลอมให้เค้ากลายเป็นคนแบบนี้ได้
เลยอยากจะแชร์เนื้อหาบทหนึ่งจากหนังสือที่ได้อ่านและชอบมากๆ เป็นเรื่องที่บอกเล่าโดยจิตแพทย์ที่ทำงานจิตบำบัดกับเด็กและวัยรุ่น เค้ายกเคสที่เคยทำงานจริงมาเล่า บวกกับการอธิบายในเชิงประสาทวิทยา (neuroscience) ทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละเคสได้ดียิ่งขึ้น
มีบทหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของไซโคพาธ คือเรื่องของเด็กหนุ่มวัย 16 ปีคนหนึ่งที่ชื่อเลออน เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมเด็กหญิงสองคน (วัย 12-13 ปี) อย่างโหดเหี้ยมและทำการข่มขืนศพของพวกเธอ
คุณหมอถูกเรียกตัวมาเพราะทนายจำเลยต้องการข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ (โดยเฉพาะในเชิงจิตวิทยา) ที่สมควรนำมาพิจารณาในการตัดสินโทษหรือไม่ ว่าสมควรจะลดจากโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทนไหม คุณหมอก็เลยต้องเข้าไปสัมภาษณ์นักโทษเด็กหนุ่มรายนี้ รวมถึงสัมภาษณ์ครอบครัวของเขา เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้กับศาลพิจารณา
หลังจากที่สัมภาษณ์เจ้าตัวและพบว่าเขาเป็นฆาตกรผู้เลือดเย็นแบบไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของความสำนึกผิดใดๆ แล้ว คุณหมอก็ตัดสินใจไปสัมภาษณ์ครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และพี่ชายเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม ทุกคนก็ดูเป็นคนปกติธรรมดาทั่วไปที่รู้สึกเสียใจ โกรธแค้น และไม่เข้าใจว่าเลออนทำเรื่องชั่วร้ายแบบนี้ลงไปได้อย่างไร หลังจากการพูดคุย คุณหมอก็ได้พบกับเรื่องที่ไม่คาดคิดเรื่องหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อการ “สร้าง” ฆาตกรวัยเยาว์อย่างเลออนขึ้นมา
โดยต้องเท้าความก่อนว่า คุณแม่ของครอบครัวนี้ เป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญา ก่อนหน้านี้คู่สามีภรรยาหนุ่มสาวอาศัยอยู่กับครอบครัวใหญ่ ที่ญาติพี่น้องอาศัยอยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน ตอนที่ตั้งท้องลูกชายคนแรก ตัวคุณแม่ก็ลาออกจากงานแม่บ้านโรงแรมเพื่อมาเลี้ยงดูลูกเต็มเวลา โดยมีญาติพี่น้องของทั้งสองฝั่งคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ไม่ห่าง
ในขณะที่ลูกชายคนเล็กอย่างเลออน ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อพ่อและแม่จำเป็นต้องย้ายบ้านไปอยู่ต่างเมืองเนื่องจากเหตุผลเรื่องงานของผู้เป็นพ่อ ฝ่ายคุณแม่ถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่โดยปราศจากการสนับสนุนจากครอบครัว บวกกับการต้องดูแลลูกชายคนเล็กวัยแบเบาะ ทำให้ตัวคุณแม่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดและกดดันของสถานการณ์ดังกล่าวด้วยตัวคนเดียวได้ เธอจึงหาวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยทำให้เธอผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้น
“เขาเป็นเด็กที่วุ่นวายมากค่ะ ชอบร้องไห้งอแง”
“แล้วคุณปลอบเขายังไง?”
“ก็ป้อนนมให้กินค่ะ บางทีเขาได้ขวดนมแล้วก็จะเงียบ”
“มีอะไรอีกไหม?”
“บางครั้งเวลาเขางอแงไม่หยุด เราก็จะออกไปเดินเล่นกันค่ะ”
“เราหรือ?”
“หมายถึงฉันกับลูกชายคนโตค่ะ”
ใช่ค่ะ กิจวัตรประจำวันของเธอ คือการพาลูกชายคนโตวัย 4 ขวบออกไปเดินเล่นตั้งแต่เช้าตรู่และจะกลับมาอีกทีในตอนค่ำ โดยที่ทิ้งลูกชายคนเล็กวัย 4 สัปดาห์ไว้ในอพาร์ตเมนต์คนเดียว!
เธอยังเล่าให้คุณหมอฟังด้วยว่า “ตอนหลังเขาก็เลิกงอแงแล้ว”
คุณหมออธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในตอนแรกเลออนตัวน้อยในวัยทารกที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ร้องไห้ตามสัญชาตญาณเพื่อขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ในที่สุดเขาก็เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ร้องไปยังไงก็ไม่มีใครสนใจ เขาก็เลยหยุดร้องไห้ ทำได้แค่นอนนิ่งๆ และไม่มีใครมาดูแล
การถูกทอดทิ้งและขาดการกระตุ้นในช่วงเวลาสำคัญทางพัฒนาการนี้ ทำให้เลออนไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมนุษย์แบบที่ควรจะเป็น สิ่งที่เลออนตัวน้อยได้เรียนรู้คือ ในโลกอันกว้างใหญ่นี้ เขาไม่สามารถจะพึ่งพาใครได้เลยนอกจากตัวเองคนเดียว วงจรสมองส่วนที่ควรจะพัฒนาจากสายใยความผูกพันกับผู้เป็นแม่นั้นได้ขาดหายไป
ยิ่งเขาโตขึ้น ก็ยิ่งพัฒนาความรู้สึกเย็นชาที่มีต่อพ่อแม่ ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ แม้ว่าจะโดนดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษ และหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ทางกายทุกรูปแบบ แม้ว่าเขาจะเป็นเด็กฉลาด และสามารถลอกเลียนแบบพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมเป็น แต่เขาก็จะทำในเชิงการล่อหลอก ปั่นหัวเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการเท่านั้น และถึงจะไม่สำเร็จ เขาก็จะแย่งสิ่งนั้นมาให้ได้อยู่ดี และไม่รู้สึกรู้สาใดๆ ต่อการลงโทษทุกรูปแบบ สิ่งที่เขาเรียนรู้คือการโกหกเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดเท่านั้น เขาไม่เข้าใจการสร้างสัมพันธภาพกับใครทั้งสิ้น
สมัยเรียนอนุบาลเขาเคยถูกพิจารณาว่าเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงและได้เข้าโปรแกรมพิเศษซึ่งเป็นการรวมเอาเด็กที่มีปัญหามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ผลการวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการทำแบบนั้นจะยิ่งสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมเชิงลบเพิ่มมากขึ้นจากอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน
เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน ทุกอย่างก็ยิ่งแย่ลง ยิ่งเขามีพฤติกรรมแย่ๆ คนรอบตัวก็ยิ่งเชื่อว่าเขาเป็นเด็กไม่ดีที่ไม่สมควรได้รับความสนใจ วงจรอุบาทว์นี้ยิ่งยกระดับความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เป็นการก่ออาชญากรรม จนเขาคุ้นเคยกับการถูกส่งไปสถานพินิจตั้งแต่อยู่ป.5
คุณหมอได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า สารเคมีในสมองของคนที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมเป็นรูปแบบเดียวกับสารสื่อประสาทในสมองของเราเวลาตอบสนองต่อความตึงเครียด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทเหล่านี้เชื่อมโยงกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง และต่อต้านสังคม
วัยรุ่นที่เป็นพวกต่อต้านสังคมจะมีฮอร์โมนความเครียด (คอร์ติซอล) ในระดับสูงผิดปกติซึ่งอาจเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจในวัยเยาว์ การที่ร่างกายต้องอยู่ในสภาวะที่มีความเครียดสูงแบบนี้มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้คนเหล่านี้มีความด้านชาทางอารมณ์ สามารถโกหกผ่านเครื่องจับเท็จได้โดยไม่แสดงปฏิกิริยาวิตกกังวลหรือตึงเครียดใดๆ คนเหล่านี้จะดูไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองหรือรู้สึกรู้สาต่อสิ่งใด ยกเว้นแต่สิ่งเร้าที่รุนแรงสุดโต่งมากจริงๆ อาจเรียกได้ว่าคนเหล่านี้มืดบอดทางอารมณ์ก็ได้ (emotionally blind)
ที่น่าเศร้าที่สุดคือ คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถมอบความรัก หรือแม้แต่รับรู้ความรักจากใครทั้งสิ้น คำถามคือ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นนี้? จะโทษเด็กหนุ่มคนนี้ที่เขาโชคร้ายเพราะในวัยแบเบาะไม่ได้พัฒนาสมองส่วนที่เรียนรู้ความรัก ที่นำมาซึ่งความสุขที่สุดในชีวิตของมนุษย์เรางั้นหรือ?
แน่นอนว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง แต่ถ้าลองคิดว่า หากมีบางอย่างที่แตกต่างออกไปจากนี้ ฆาตกรคนนี้จะไม่ได้ “ถูกสร้าง” ขึ้นมารึเปล่า?
– ถ้าหาก…เลออนเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายกว่านี้ ไม่งอแงขนาดนี้
– ถ้าหาก…เขาอยู่ท่ามกลางญาติคนอื่นในครอบครัวใหญ่ที่ให้การดูแลมอบความรักเขาได้ดีกว่านี้
– ถ้าหาก…เขาได้อยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนที่เป็นเด็กปกติ
– ถ้าหาก…มีเพื่อนสักคนที่เข้าหาและมอบมิตรภาพที่แท้จริงให้เขา
มีแต่คำว่า “ถ้าหาก…” ทั้งหมดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น snowball effect ที่เหตุการณ์หลายๆ อย่างประจวบเหมาะเข้ากันพอดี สะสมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นหิมะก้อนใหญ่ก้อนนี้ขึ้นมา
สิ่งที่คุณหมอทำได้ มีเพียงแค่ให้การต่อศาลถึงเรื่องราวในช่วงวัยทารกที่เลออนถูกทอดทิ้งจนส่งผลให้สมองของเขาไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง
แต่ถึงกระนั้นสิ่งนี้ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเขาก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่ขัดต่อกฎหมายและเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง
ประโยคสุดท้ายที่เลออนพูดก่อนถูกนำตัวไปตัดสินคดีก็คือ “ทำไมพวกเขา (ครอบครัวของเหยื่อ) ต้องร้องไห้ด้วยล่ะ? ในเมื่อผมต่างหากที่เป็นคนที่ต้องเข้าคุกน่ะ”
จากหนังสือ “The Boy Who Was Raised as a Dog”
ครูโบนัส