มาพบกับตอนที่ 2 กันต่อเลยค่าา
Episode 02: The Sound of Silence
สำหรับเด็กๆ ที่มีภาวะ Selective Mutism (SM) ไม่พูดในบางสถานการณื โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เด็กไม่คุ้นเคย หลายครั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบว่าลูกมีภาวะนี้เพราะที่บ้านลูกก็พูดตามปกติ จนกระทั่งได้รับการรายงานจากคุณครูว่าลูกไม่พูดที่โรงเรียนเลย
โดยปกติเด็กที่มีภาวะนี้ จะค่อนข้างแยกตัว ไม่เล่นกับเพื่อน ไม่ค่อยสังคมกับคนอื่น หลายครั้งอาจมีปัญหา separation anxiety ร่วมด้วย คุณครูที่ไม่รู้จักภาวะนี้อาจยังไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เพราะเป็นพฤติกรรมปัญหาของเด็กที่เกิดขึ้นภายใน ไม่มีการกระทบกับคนอื่น จึงเป็นปัญหาที่มักถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้ง
เด็กๆ ที่ประสบกับภาวะนี้และโชคร้ายไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจทำให้เมื่อโตขึ้นมีปัญหาในการเข้าสังคม รวมถึงมีความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางจิตเวชและความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่นๆ ได้
.
.
ในการบำบัดทุกเคส (ไม่ได้เฉพาะแค่เคส SM) จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งผู้ปกครองและคุณครูที่โรงเรียน เพื่อจะสามารถช่วยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเด็กหลังเข้ารับการบำบัด และรายงานติดตามความก้าวหน้าที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการบำบัด
หลายครั้ง นักบำบัดอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้องเล่นมากนัก แต่ฟีดแบ็คจากคุณพ่อคุณแม่และคุณครู จะช่วยให้นักบำบัดทราบถึงความก้าวหน้าของเด็กในชีวิตจริงได้
.
.
เด็กๆ หลายคนยึดเอาห้องเล่นเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาสามารถเลือกทำอะไรแบบไหนก็ได้ และสิ่งหนึ่งที่เด็กๆ รับรู้และเลือกจะทำได้ ก็คือการอยู่ในความเงียบกับตัวเอง เพราะพวกเขารับรู้ได้ถึงความอบอุ่นปลอดภัย ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดใดๆ เลย
“พวกเขารู้สึกมั่นคงปลอดภัยและสบายใจที่จะอยู่เงียบๆ กับเรา (นักบำบัด) โดยปราศจากแรงกดดัน หรือการตัดสินใดๆ”