ทุกคนคงเคยเผชิญกับช่วงเวลาที่รู้สึกโกรธ/โมโหจนอยากจะตะโกนกรี๊ดออกมา เสียใจจนอยากร้องไห้ หรือมีเรื่องรบกวนจิตใจจนทำให้หงุดหงิดใช่ไหมคะ?
แม้ว่าเราจะอยากให้ตัวเองอารมณ์ดีๆ เพื่อจะเลี้ยงลูกเชิงบวกได้อย่างมีความสุข แต่อารมณ์เชิงลบเหล่านี้ก็เข้ามาในชีวิตอยู่เนืองๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
**สิ่งสำคัญคือการจัดการกับอารมณ์เหล่านี้อย่างถูกต้อง และควบคุมการตอบสนองของเราให้เหมาะสม**
สิ่งที่ครูโบนัสแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้อง “ฝึก” ทำ เพื่อรับมือกับอารมณ์เชิงลบ มีดังนี้ค่ะ
1. ยอมรับการมีอยู่ของอารมณ์เชิงลบ
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าอารมณ์เชิงลบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความกลัว หรือความขยะแขยง เป็นอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ คนเราไม่สามารถมีแต่อารมณ์เชิงบวกได้ตลอดเวลา
เหมือนอย่างในภาพยนตร์ Inside Out ที่สะท้อนให้เห็นว่าอารมณ์ทุกอย่างมีบทบาทและความสำคัญในชีวิตของเรา “ไม่มีอารมณ์ใดที่ผิด” เพียงแค่เราเรียนรู้ที่จะรับรู้และจัดการกับมันให้ดี
จริงๆ ข้อนี้ถือว่าทำได้ยากมากที่สุดเลยค่ะ เพราะเรามักจะไม่รู้ตัวเอง และเวลาเกิดอารมณ์เชิงลบก็มักจะเหมือนมีเมฆดำก้อนใหญ่ๆ มาบดบังทัศนวิสัยตามปกติของเรา
ขอให้เริ่มจากการท่องซ้ำๆ วนไปวนมา ว่า “อารมณ์ (…) ไม่ใช่เรื่องผิด” และใจดีกับตัวเองด้วยการเลิกตำหนิว่าอารมณ์ที่เรามีอยู่นั้นไม่เหมาะสม แค่เรายอมรับอารมณ์ของตัวเองได้ รับรองว่าความพลุ่งพล่านของอารมณ์นั้นจะลดลงไปกว่าครึ่งแน่นอนค่ะ
2. ควบคุมการตอบสนองอารมณ์เชิงลบของตัวเอง
สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการควบคุมปฏิกิริยาของเราเอง เวลาต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์เชิงลบ แม้ว่าเราจะรู้สึกโกรธหรือเสียใจ แต่การตอบสนองอย่างหุนหันพลันแล่นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด
สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากการรับรู้อารมณ์ตัวเอง สูดหายใจลึกๆ เพื่อตั้งสติให้ได้ก่อนที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างลงไป
3. การหลีกเลี่ยงอารมณ์ลบไม่ใช่การแก้ปัญหา
การหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกแย่ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ในภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ที่สมาชิกในครอบครัวพยายามปิดบังความจริง ไม่อยากให้อาม่ารู้ว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เพราะกลัวว่าอาม่าจะรู้สึกเศร้าหรือท้อแท้
แต่ในความเป็นจริง ลูกหลานของอาม่าเองต่างหากที่กลัวอารมณ์เชิงลบของตัวเอง และพยายามหลีกหนี เพราะไม่อยากให้ตัวเองต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกนั้น
การหยุด (หรือหลีกหนี) สถานการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ลบไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง สิ่งที่สำคัญกว่าคือการให้โอกาสตัวเองและผู้อื่นได้เรียนรู้วิธีจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้น เพื่อให้สามารถรับมือได้ดีขึ้นในอนาคต
4. กฎเหล็กในการรับมือกับอารมณ์เชิงลบ
ในทุกสถานการณ์ไม่ว่าคุณจะโกรธหรือเศร้ามากแค่ไหน สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ “เราต้องไม่ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ” การควบคุมตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น เป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือกับอารมณ์เชิงลบได้อย่างเหมาะสม
.
.
พ่อแม่หลายคนมักจะรีบแก้ปัญหาให้ลูกเมื่อเห็นว่าลูกเจอความยากลำบาก เพราะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเห็นลูกต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านั้น ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะ เพราะสิ่งนี้เรียกว่าปรากฏการณ์ mirror neurons คือการที่เรา “ก็อปปี้” ความรู้สึกของคนอื่นที่เรามองเห็นหรือรับรู้ เช่น เวลาที่เราดูหนังและเห็นตัวละครเศร้า เราก็จะรู้สึกเศร้าจนร้องไห้ตามไปด้วย (ทั้งๆ ที่ตัวเราไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ สักหน่อย)
เช่นเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ เวลาเห็นลูกต้องเผชิญกับปัญหาหรืออารมณ์เชิงลบ ก็จะรู้สึกว่าปัญหาของลูกเป็นปัญหาของตัวเอง และทำให้รู้สึกอยากรีบ “ช่วย” แก้ไข เพื่อลบปัญหานั้นให้หายไป
อย่างไรก็ตาม การที่พ่อแม่รีบแก้ปัญหาแทนลูก อาจทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตนเองและไม่ได้ฝึกฝนการแก้ปัญหาในชีวิต เมื่อพ่อแม่เข้าไป “หยุด” ความรู้สึกที่ลูกต้องเผชิญ ลูกก็อาจสูญเสียโอกาสพัฒนาทักษะสำคัญในการรับมือกับอารมณ์เชิงลบและสถานการณ์ที่ยากลำบาก
จริงๆ mirror neurons นี้ ทำให้มนุษย์เราสามารถพัฒนา Empathy หรือความรู้สึกมีเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะเราสามารถสะท้อนและเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้จากการสังเกตค่ะ
เมื่อลูกถูกปิดกั้นโอกาสในการเผชิญหน้ากับปัญหา และถูก “ตัดตอน” จากการเรียนรู้ผ่านการสังเกตและเห็นตัวอย่างการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ เราจะคาดหวังให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถรับผิดชอบต่อปัญหาของตัวเอง และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้อย่างไร?!
การยอมรับและเรียนรู้จากอารมณ์เชิงลบเป็น “ทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิต” เพราะการที่เราสามารถควบคุมปฏิกิริยาของตนเองเมื่อเผชิญกับอารมณ์เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น แต่ยังช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายและสถานการณ์ยากลำบากได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนและช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์เชิงลบได้ ลูกก็จะมีโอกาสพัฒนาทักษะในการเผชิญปัญหาในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการให้โอกาสเด็กๆ ได้เสริมสร้างการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) อีกด้วยค่ะ
ท้ายที่สุดแล้ว อารมณ์เชิงลบไม่ใช่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและการเรียนรู้ในชีวิต ที่เราทุกคนต้องเผชิญและเรียนรู้ฝึกฝนวิธีจัดการรับมืออย่างถูกต้องค่ะ