เล่นบำบัด 101

สวัสดีค่ะ
ก่อนอื่นทางเพลย์โตและครูโบนัสต้องขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้รถนักเรียนไปทัศนศึกษาที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้
.
นี่ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจและน่าเศร้ามาก ๆ ไม่ใช่แค่เพียงเพราะการสูญเสียชีวิตของเด็ก ๆ และคุณครูจำนวนไม่น้อย แต่ยังรวมถึงบาดแผลภายในใจผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่อาจไม่ได้ชัดเจนเหมือนบาดแผลทางกาย แต่ส่งผลกระทบรุนแรงได้เป็นอย่างมากเลยค่ะ
.
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือที่เราอาจรู้จักกันในชื่อ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)
———————-
PTSD คืออะไร?
PTSD เป็นภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียคนที่รัก การประสบอุบัติเหตุที่ร้ายแรงเกือบถึงชีวิต การได้พบเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง การถูกทำร้ายทารุณ หรือแม้แต่การต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ
.
ความเครียดและความหวาดกลัวที่เกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้มักจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ที่ประสบเหตุ ซึ่งสถิติบอกว่า ในจำนวนผู้ที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ทุกๆ 100 คน จะมี 5-10 คนที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการ PTSD ค่ะ
.
PTSD ในผู้ใหญ่ มักจะแสดงอาการชัดเจนและสามารถสังเกตได้ง่าย เช่น อาจมีอาการตื่นตระหนก แพนิค (Panic Attack) นอนฝันร้าย นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท มีอาการ Flashback ที่ทำให้รู้สึกเสมือนตัวเองย้อนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้งๆ ซ้ำๆ หรืออาจเกิดความหวาดกลัวและวิตกกังวลต่อสถานที่ ผู้คน หรือปัจจัยที่ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นได้
.
สำหรับอาการ PTSD ในเด็ก อาจแสดงออกมาไม่ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ เนื่องจากพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสติปัญญาตามวัยของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การแสดงออกของอาการจึงอาจแตกต่างออกไป เช่น
.
– พัฒนาการถดถอย (Regression): เด็กที่เคยควบคุมการขับถ่ายได้แล้วอาจกลับมาฉี่รดที่นอนหรือไม่ใช้ห้องน้ำอย่างเหมาะสม หรือกลับมาดูดนิ้ว หรือเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่เหมือนเด็กเล็กๆ
.
– พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป: เด็กอาจแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เด็กที่เคยควบคุมอารมณ์ได้ดี อาจกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เกรี้ยวกราด หรือร้องไห้บ่อยขึ้น เด็กอาจเลิกทำกิจกรรมที่เคยชื่นชอบและแยกตัวอยู่เงียบๆ ไม่อยากเข้าสังคมเหมือนเดิม หรือหลายครั้งอาจเห็นว่าเด็กมีปัญหาในการพูดสื่อสาร อาจใช้คำสั้นๆ หรือพูดคำซ้ำๆ เหมือนเด็กเล็ก เป็นต้น
.
เนื่องด้วยอาการ PTSD ในเด็กมักเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถประมวลผลและเข้าใจเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อจิตใจนี้ได้ เด็กจึงกลับไปใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยสร้างความรู้สึกปลอดภัยในช่วงวัยก่อนหน้า หรือเด็กอาจไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ก้อนใหญ่ที่กดดันอยู่ภายในใจได้จนต้องแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหานั่นเองค่ะ
———————-
โศกนาฏกรรมนี้ ยังส่งผลกระทบต่อทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยค่ะ
Survivor’s Guilt: ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต
.
นอกจากความเสี่ยงในการป่วยด้วยอาการ PTSD แล้ว ผู้รอดชีวิตที่อยู่ในเหตุการณ์อาจเผชิญกับความรู้สึกที่เรียกว่า “survivor’s guilt” หรือ “ความรู้สึกผิดที่รอดชีวิตมาได้” ในขณะที่คนอื่นๆ ต้องเสียชีวิต ความรู้สึกนี้อาจทำให้ผู้รอดชีวิตต้องต่อสู้กับความสับสน ไม่เข้าใจว่าทำไมตนเองถึงรอดมาได้ ในขณะที่คนอื่นไม่ได้มีโอกาสเช่นนั้น ความรู้สึกผิดนี้อาจทำให้เกิดภาวะเครียดและซึมเศร้า ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ปัญหาด้านจิตใจในระยะยาว
.
เด็กนักเรียนและครูที่รอดชีวิตอาจต้องเผชิญกับภาพจำที่เจ็บปวดจากเหตุการณ์ ความทรงจำเหล่านั้นอาจปรากฏในรูปของฝันร้ายหรือความกลัวที่จะเดินทางไปไหนมาไหน การสูญเสียคนที่สนิทสนมหรืออย่างน้อยก็รู้จักกันไปอย่างฉับพลันในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับภาวะที่ซับซ้อนในการทำความเข้าใจกับความสูญเสีย ความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถช่วยเหลือคนที่เสียชีวิตได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับตัวทางอารมณ์และสังคม
.
หากโรงเรียนสามารถมีการจัดช่วงเวลาเพื่อทำบำบัดแบบกลุ่ม ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้ระบายความรู้สึกข้างในใจตนเองออกมาโดยไม่มีการตัดสิน จะช่วยให้ทุกคนได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับอารมณ์ของตนเองที่มีต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ รับรู้ว่าตนเองไม่ได้โดดเดี่ยว และมีการซัพพอร์ตใจซึ่งกันและกัน ก็น่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายได้อย่างมากเลยค่ะ
———————-
Grief: ความสูญเสียของครอบครัว
แน่นอนว่าครอบครัวของเด็กนักเรียนและครูที่เสียชีวิต ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความทุกข์ใจอย่างรุนแรง
.
“grief” หรือ “ความโศกเศร้าจนใจสลาย” เป็นอารมณ์หลักที่ครอบครัวเหล่านี้ต้องเผชิญ ความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำใจได้ รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและในเหตุการณ์ที่น่าสลดเช่นนี ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มความเศร้าเสียใจและความช็อกให้กับครอบครัว
.
ในช่วงเวลาที่เกิดความสูญเสีย ครอบครัวอาจต้องการการสนับสนุนทางอารมณ์จากคนรอบข้าง การรับมือกับความเจ็บปวดครั้งนี้อาจต้องใช้เวลาและการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการดูแลจิตใจและเยียวยาความรู้สึกที่แตกสลายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
.
นอกจากนี้ ครอบครัวของผู้สูญเสียยังอาจเผชิญกับความรู้สึกของ “ความว่างเปล่า” และการปรับตัวต่อชีวิตที่ไม่มีบุคคลที่พวกเขารักอยู่ด้วยอีกต่อไป ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังอาจได้รับผลกระทบจากความโศกเศร้าใจสลายนี้ด้วยค่ะ
———————-
ในฐานะนักเล่นบำบัดที่ทำหน้าที่บำบัดเยียวยาจิตใจเด็กๆ ครูโบนัสคิดว่า สิ่งหนึ่งที่เราสามารถจะถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ได้ คือตระหนักถึงความสำคัญของการบำบัดเยียวยาจิตใจจากเหตุโศกนาฏกรรมในลักษณะนี้
.
เพราะการบำบัดไม่ใช่เพียงการรักษาอาการเฉพาะทางจิตใจ แต่ยังเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ช่วยให้เด็กและครอบครัวได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับความรู้สึกของตนเอง และพร้อมที่จะก้าวผ่านความสูญเสียและความเจ็บปวดไปด้วยพลังใจที่เข้มแข็งกว่าเดิม
.
ครูโบนัสและเพลย์โต ขอส่งกำลังใจก้อนใหญ่ๆ และอ้อมกอดอันอบอุ่นให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องนะคะ 🤍

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *